เด็กมหิดลปี 1 บอกไปเรียนมูเก้ (MUGE) แล้วมูเก้คืออะไร?
7/26/2017
Writer: YelloTalk
เฟรชชี่มหิดลหลายคนคงได้ยินคำว่า 'มูเก้' กันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจากรุ่นพี่ คนรู้จัก หรือเดินซื้อของในตลาดนัดมหิดล คงได้ยินนักศึกษาพูดคุยกันอยู่บ้าง แต่ก็คงยังไม่คุ้นเคยกันแน่ๆ นอกเสียจากจะได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดลจริงๆ เพราะวิชานี้เป็นวิชาเฉพาะที่มีแต่มหาวิทยาลัยมหิดลเรียนเท่านั้นนะ
วันนี้จะมาอธิบายให้ฟัง ว่าชื่อวิชาแปลกๆ อย่าง 'มูเก้' นี้ คืออะไร เรียนอย่างไร และทำไมเด็กๆ มหิดลถึงต้องเรียน มาไขข้อสงสัยให้กระจ่างกันไปเลย
'มูเก้' แปลว่าอะไร เหมือนไม้ปาร์เก้หรือเปล่า
ตึ่งโป๊ะ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับไม้ปาร์เก้ จริงๆ ไม่ใช่ภาษาใหม่อะไรหรอก แต่มันย่อมาจาก Mahidol University General Education โดยนำอักษรตัวหน้าของแต่ลพคำมาย่อนให้สั้นและง่าย เลยได้เป็นคำว่า 'MUGE' หรือ 'มูเก้' หรือย่อให้เป็นภาษาไทยว่า 'มมศท' ที่มาจาก การศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป นั่นเอง
มูเก้นี้จะคล้ายๆ กับวิชาสังคมศึกษา มีเรียนสังคมศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การบริหารจัดการ เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มวิชาแกน 7 หน่วยกิต และประกอบด้วยรายวิชา 3 วิชา ได้แก่
มมศท 101 การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ (2 หน่วยกิต)
99 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เรียนวิชานี้ รับรองจะได้ยินคำว่า บัณฑิตที่สมบูรณ์บ่อยมาก ส่วนอีก 1% อาจหลับหรือไม่ได้เข้าเรียนเลยไม่ได้ยิน เป็นรายวิชาที่เน้นความรู้และความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของวิชาศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติของบัณฑิต แนวทางในการพัฒนาศักยภาพ จิตใจ และเชาว์ปัญญา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ตอนเรียนมีความสนุกสนาน ตรงที่ได้คุยกับเพื่อนๆ อย่างมีสาระ เช่น การจับกลุ่ม (Buzzgroup) จากปัญหาที่กำหนดมาให้ การนำเสนอความคิดของกลุ่มตนเอง สุดท้ายจะมีการคละแต่ละคณะเข้ากลุ่ม เพื่อทำโครงงานใหญ่ จะบอกว่า ตรงนี้ทำให้เราสนิทกับเพื่อนคณะอื่นๆ มากขึ้น แต่อย่าแอบอู้อยู่คนเดียวนะ เพราะจบคอร์สนี้จะมีการประเมินเพื่อนในกลุ่มด้วย อย่างไรก็ช่วยๆ กันนะ แบ่งงานกัน ทำแล้วมัน เชื่อเรา เราผ่านมาแล้ว
มมศท 102 สังคมศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ (3 หน่วยกิต)
วิชานี้เรียนเกี่ยวกับสังคมศึกษา การบริหารการจัดการ โดยให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสังคม ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกในแง่มุมต่างๆ
มมศท 103 ศิลปวิทยาการเพื่อการพัฒนามนุษย์ (2 หน่วยกิต)
วิชานี้จะได้เจอกับความรู้ด้านศิลปวิทยาการและวัฒนธรรม รวมไปถึงแนวคิดของมนุษย์ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
ทั้ง 3 รายวิชา มีส่วนที่เหมือนกันคือ ไมค์ลอย นั่งอยู่ดี ๆ ก็จะมีไมค์ลอยมาให้ตอบกันได้ง่ายๆ มุมที่ชื่นชอบของพี่TA หรืออาจารย์ผู้ช่วย จะอยู่โซนด้านหลัง ดังนั้นเลือกที่นั่งกันดีๆ และ มมศท 102 กับ 103 มีงานนำเสนอบ่อยมาก หลังจากได้เรียนแล้ว จะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นเยอะเลย เตรียมตัวเตรียมใจ หากลุ่มที่ใช่กันไว้ให้พร้อม
เรียนอย่างไรไม่ให้งง
ทุกคณะจะต้องเรียนรายวิชานี้ ยกเว้นเพียง คณะ ICT และ MUIC โดยการเรียนจะคละแต่ละคณะเข้ามาเป็นกลุ่มเรียนต่างๆ เช่น A1, B10, C05 ดังนั้นเราอาจต้องพรากจากเพื่อนในคณะตัวเองบางครั้ง แต่ไม่เป็นไร เราอาจได้รู้จักเพื่อนคณะอื่นๆ เพิ่มขึ้นก็ได้
เช็คว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน เลขที่เท่าไหร่ ในนี้ โดยกดตรงสอบถามรายชื่อในชั้นเรียน รวมถึงตารางเรียนของกลุ่มตัวเองด้วย จำให้ขึ้นใจ เพราะเราจะใช้ไปจนจบปี 1 เลย
ชื่อย่อคณะก็สำคัญ เพราะส่วนใหญ่ในวิชา 'มูเก้' นี้ จะแนะนำตัวเป็นชื่อย่อของแต่ละคณะ และชื่อตึกเรียนก็จะใช้ชื่อย่อคณะในการเรียก ดังนั้นท่องเอาไว้เบาๆ จะได้ไม่งง เช่น LA ศิลปศาสตร์ PT กายภาพบำบัด สามารถเข้าไปจำกันได้ในนี้เลย ชื่อย่อคณะ
หลังจำชื่อย่อคณะได้แล้ว ก็ลองสำรวจตึกที่จะต้องไปเรียนก่อน บางครั้งวิชา 'มูเก้' เรียนติดกัน หากเราเดินหาตึกอยู่ อาจไปเรียนไม่ทันได้ หาเส้นทางเดินเรียนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือถ้าจำไม่ได้จริงๆ เจอหมอหน้าตาจิ้มลิ้ม ก็โบกขอซ้อนจักรยานไปด้วย เราว่า เวิร์คมาก
มมศท 102 และ 103 มีสอบปลายภาคด้วย แต่เราสามารถไปซื้อสรุป 'มูเก้' ช่วยชีวิตของหมอได้ วางขายที่ร้านอักษร และเวลาใกล้สอบก็ระวังขาดเกินที่กำหนด เพราะมีการเช็คชื่อทุกครั้ง หากขาดเกิน จะต้องมาเรียนชดเชยเพิ่มเติม อย่าให้ตัวเองต้องมาเรียนเปล่าเปลี่ยวแบบนั้นเลย
ได้อะไรจากการเรียน 'มูเก้'
1. ทบทวนความรู้สมัยม.ปลาย
การเรียน 'มูเก้' เหมือนได้ทบทวนความรู้สมัยมัธยมปลายใหม่อีกรอบ (เฉพาะวิชาสังคมศึกษา ศิลปะ ประวัติศาสตร์) อีกทั้งความรู้ยังนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ตั้งแต่เรื่องการบริหารและจัดการองค์กร ไปจนถึงเศรษฐกิจ ข้อมูลในรายวิชา บางคณะอาจจะไม่ได้เรียนเลย วิชานี้จึงเหมือนเป็นการรวมสังคมและศิลปะเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคณะเข้าใจสังคมและศิลปะได้ครบทุกมิติ
2. เรียนรู้การฝึกพูดในที่สาธารณะ
นอกจากข้อมูลที่จะได้รับแล้ว ยังได้ฝึกพูดในที่สาธารณะแบบเป็นทางการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรายงานและการนำเสนอต่างๆ เพราะวิชานี้มีการนำเสนอผลงานเยอะมาก ต้องใช้ทักษะการวางตัวอย่างมีบุคลิกภาพ และการพูดแบบไม่คาดฝันเข้ามาช่วย จากไมค์ลอยระยะเผาขนของพี่ TA ซึ่งเรารู้สึกว่า หลังจากที่ได้เรียนวิชา 'มูเก้' ความใจกล้าบ้าบิ่นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลย ไม่แน่ใจว่า มาจากการนำเสนอผลงาน หรือเต๊าะหมอในห้องกันแน่
3. งานกลุ่มช่วยเพิ่มทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่น
วิชานี้มีการทำงานกลุ่มที่จริงจังและเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นรายงาน อัดวิดีโอ Buzz Group และอีกมากมาย จึงเป็นการฝึกการวางแผน ควบคุมอารมณ์ และเข้าสังคมไปด้วยในตัว เพราะบางครั้งทางรายวิชาจะจัดกลุ่มให้เราด้วยตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้เรารู้จักกับคนใหม่ๆ มากขึ้น
4. รู้จักสถานที่ในมหาวิทยาลัยเกือบทุกมุม
วิชานี้ทุกคนจะได้เปิดและใช้แผนที่บอกสถานที่ในมหาวิทยาลัยมหิดลมากขึ้น เพราะการเรียนวิชา 'มูเก้' ไม่สามารถเรียนตึกเดียวได้ แต่ละรายวิชาต้องสับเปลี่ยนตึกไปเรื่อยๆ ทำให้เราแม่นทางและได้สำรวจมหาวิทยาลัยมากขึ้น
5. ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนต่างคณะมากขึ้น
วิชา 'มูเก้' จะทำให้มีโอกาสส่องผู้หรือสาวจากคณะอื่นเป็นเวลาหลายวัน สามารถเก็บเป็นคอลเล็กชั่นหรือเป็นอาหารตาอาหารใจได้ บางคนก็ได้แฟน แค่นั้น จบ
ล้อเล่น! มีโอกาสได้เจอคนใหม่ๆ มากขึ้นต่างหาก เจอกันเกือบทุกวันในคาบเรียน และด้วยวิชาเรียนเหมือนกัน ทำให้หาเรื่องชวนคุยง่ายขึ้นอีกด้วย มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์ ถือเป็นโอกาสหายากนะ เพราะฉะนั้นใช้ช่วงเวลาวิชา 'มูเก้' นี้ให้คุ้ม บางคนได้เพื่อน พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา และสถานะอื่นๆ เพิ่มขึ้น ยกเว้นคนรู้ใจ เอาน่ะ อย่างน้อยก็ได้มิตรภาพ
จริงๆ แล้วต่างคนก็ต่างประสบการณ์ อาจจะได้อะไรกลับมาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้แน่ๆ คือมิตรภาพต่างคณะ ซึ่งเราไม่สามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้เลย หากไม่มีรายวิชา 'มูเก้' ดังนั้นใช้เวลาใน 'มูเก้' ให้คุ้มค่า ทำงานให้เต็มที่ ทำความรู้จักกันให้ดีๆ
เมื่อขึ้นปี 2 แต่ละคณะต้องไปเรียนตามวิทยาเขตของตัวเองแล้ว เมื่อหันมามองความทรงจำใน 'มูเก้'จะรู้สึกอบอุ่นจริงๆ เก็บความทรงจำดีๆ ตอนปี 1 เอาไว้ให้ได้มากที่สุด รักใคร ชอบใคร ก็บอกไปเลย ก่อนที่มันจะสายเกินไป
อ้างอิง